SOLAS - VGM มาตรการรองรับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์

49137 จำนวนผู้เข้าชม  | 

SOLAS - VGM มาตรการรองรับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์

VGM เป็นคำที่หลายคนคงได้ยินและคุ้นหูมากในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ และคงอยากรู้กันว่า VGM ที่ได้ยินมานั้น หมายความว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร และทำไมต้องใช้กับการขนส่งสินค้า

VGM มาจากคำเต็มว่า Verified Gross Mass ถ้าจะแปลตรงตัวง่ายๆ คือ การยืนยันปริมาณมวลรวม แต่เมื่อนำมาใช้ในการขนส่งสินค้า จึงหมายถึง การยืนยันปริมาณรวมของน้ำหนักทั้งหมดของสินค้าและสิ่งของทุกอย่างที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า การยืนยันน้ำหนักตู้สินค้านั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้ผู้ส่งออกสินค้า และผู้จัดการขนส่งสินค้าต้องจัดหาข้อมูล VGM เพื่อแจ้งให้กับสายการเดินเรือ เนื่องมาจากที่ผ่านมามีการแจ้งน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่การเดินเรือ และลูกเรือ ดังจะเห็นได้จากอุบัติเหตุทางทะเลที่เกิดกับเรือบรรทุกสินค้า องค์กรทางทะเลระหว่างประเทศ(IMO) จึงได้ออกมาตรการรับรองน้ำหนักตู้สินค้าภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยชีวิตทางทะเล (SOLAS) เพื่อมาบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัย

ใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบในการแจ้ง VGM ? ผู้ส่งออกสินค้าที่มีชื่อบนBL หรือใบตราส่งสินค้า จะเป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้ง ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ ระบุบนเอกสาร Shipping Particular (SI) หรือระบุในใบกำกับการขนย้ายสินค้า เป็นต้น สิ่งที่สำคัญเมื่อระบุ VGM ลงบนเอกสารแล้ว ต้องมีการแจ้งชื่อ หรือลงชื่อผู้ที่ให้ข้อมูลบนเอกสารด้วย

เราต้องแจ้ง VGM เมื่อไหร่ ที่จะทำให้ตู้สินค้าสามารถขึ้นบนเรือ และส่งออกไปยังจุดหมายปลายทาง คำตอบนั้นคือ ผู้ส่งออกต้องทำกาแจ้งก่อนที่ตู้สินค้าจะบรรทุกขึ้นเรือ หรือ 24 ชั่วโมงก่อน Cut off time นั่นเอง และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเอาน้ำหนักอะไรบ้างมารวมเป็น VGM ถึงจะถูกต้องตามข้อกำหนด มีวิธีการหาน้ำหนัก VGM 2 วิธี

วิธีที่ 1 คือ ชั่งน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้ที่บรรจุสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่จะส่งออก โดยชั่งครั้งละตู้คอนเทนเนอร์

วิธีที่ 2 คือ Gross weight ของสินค้าทั้งหมดที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ บวกกับน้ำหนักตู้คอนเทนเนอร์(Tare weight) โดย Tare weight สามารถดูได้ที่ด้านหน้าประตูตู้คอนเทนเนอร์

สิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อได้VGM มาแล้วด้วยวิธีการใดก็ตาม VGM จะต้องไม่เกิน MAX. GROSS คือน้ำหนักที่มากสุดที่ตู้คอนเทนเนอร์สามารถรับบรรทุกได้ ซึ่งน้ำหนักนี้จะแสดงอยู่บนหน้าประตูตู้คอนเทนเนอร์ ถ้า VGM เกินจาก MAX. GROSS จะไม่สามารถนำตู้สินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์นั้นขึ้นเรือรับบรรทุกได้ ทำให้สินค้าไม่สามารถส่งถึงจุดหมายปลายทาง

ประเทศไทยได้กำหนดให้มีการแจ้งข้อมูล VGM กับตู้สินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์ที่เรือบรรทุกออกจากท่าเรือ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป เห็นแล้วว่าการหา VGM นั้นไม่ยากอย่างที่คิด แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขนส่งสินค้า.

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้