5186 จำนวนผู้เข้าชม |
การส่งของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศนั้น จะต้องผ่านการดำเนินการโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งทางไปรษณีย์ไทยให้บริการรูปแบบการส่งอยู่ 5 แบบคือ ทางอากาศ, ภาคพื้น, EMS, ไปรษณีย์ลงทะเบียน และ ไปรษณีย์ธรรมดา เมื่อสินค้าได้นำเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ทางไปรษณีย์ไทยจะคัดแยกสินค้าเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กรณีได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม
1. สำหรับของแต่ละรายที่มีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือของตัวอย่างที่ไม่มีราคาทางการค้า (ไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด)
กรณีที่ต้องชำระอากรขาเข้า
2. สำหรับของที่มีราคาไม่เกิน 40,000 บาท (ไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือไม่เป็นของต้องผ่านการวิเคราะห์ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ เมล็ดพืช) โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะเปิดตรวจของต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อประเมินราคาและค่าภาษีอากรทุกประเภท แล้วจึงส่งมอบให้ บ.ไปรษณีย์ไทย จากนั้นไปรษณีย์ไทยจะส่ง “ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” ให้กับผู้รับ โดยระบุให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ใกล้ที่อยู่ของผู้รับ
3. สำหรับของที่ไม่เข้าเงื่อนไขในกลุ่มที่ 1 และ 2 จะถูกนำไปเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่ ศุลกากร แล้วแต่กรณี ผู้รับจะได้รับ “ใบแจ้งฯ” ระบุให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือด่านศุลกากร ซึ่งการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสามารถดำเนินการได้ 2 กรณีคือ
3.1 กรณีของมีราคาเกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของจำตัองจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า ซึ่งไปรษณีย์ไทย จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยมีผู้ให้บริการ Service Counter คอยให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
3.2 กรณีของมีราคาไม่เกิน 40,000 บาท ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน